“บ้าน-ที่ดิน” ได้มาระหว่างสมรส ไม่ใช่สินสมรสเสมอไป เรามาทำความเข้าใจกันเป็นข้อ ๆ ตามคำพิพากษาฎีกาที่เคยพิพากษาไว้นะคะ
ทรัพย์สินที่ได้มาร่วมกันก่อนสมรสแม้ต่อมาจะได้มีการจดทะเบียนสมรสก็ไม่ทำให้เป็นสินสมรส หมายถึงส่วนนี้ยังคงเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย ทำให้เวลามีเจ้าหนี้มายึด คู่สมรสของอีกฝ่ายสามารถขอกันส่วนของตัวเองออกได้ โดยไม่ต้องถูกบังคับชำระหนี้ด้วย หรือคู่สมรสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่กับคนอื่นที่ตอนนั้นยังไม่ได้แบ่ง พอต่อมามีการสมรสเกิดขึ้นแล้วมีการแบ่งกันภายหลังก็ไม่ทำให้เป็นสินสมรส ส่วนนั้นยังคงเป็นสินส่วนตัวค่ะ
ในกรณีอสังหาริมทรัพย์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสก็ใช่ว่าจะเป็นสินสมรสไปเสียหมด เพราะเขาอาจรับมาเป็นมรดก หรือรับการยกให้โดยเสน่หาก็ได้ จึงไม่ถือเป็นสินสมรสแม้จะเป็นการยกให้กันเองก็ตาม
ดังเช่นคำพิพากษาฎีกานี้
“ คำพิพากษาฎีกาที่ 337/2530โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสแต่ผู้เดียว ในระหว่างสมรส จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์แสดงว่าจำเลยมีเจตนายกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ย่อมทำให้ทรัพย์สินนั้นหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และสัญญานี้เป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ เมื่อจำเลยยกทรัพย์สินให้แก่โจทก์และทรัพย์สินนั้นตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1471(4) แล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นต่อไป โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์สินดังกล่าวได้”
อย่างไรก็ดีใน “การยกให้” หากต้องการให้เป็นสินสมรสของทั้ง 2 คน ควรระบุให้ชัดว่ายกให้เป็นสินสมรส มิเช่นนั้นแล้วมันจะกลายเป็นสินส่วนตัวของผู้รับ จุดนี้ต้องระวังเป็นพิเศษนะคะ
“คำพิพากษาฎีกาที่ 83/2512ในระหว่างที่ผู้ร้องกับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ตามพฤติการณ์ที่ผู้ร้องกับจำเลยปฏิบัติต่อกัน เป็นการแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของผู้ร้องและจำเลยร่วมกัน ทั้งมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของในทรัพย์พิพาทโดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่าบรรดาทรัพย์ที่ผู้ร้องหรือจำเลยหามาได้ระหว่างนั้น แม้จะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดก็ไม่สำคัญ ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกัน และเมื่อผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันทรัพย์ทั้งหมด โดยเฉพาะทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินบริคณห์ประเภทสินเดิมของผู้ร้องและจำเลยเท่า ๆ กัน ฉะนั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจึงมีสิทธิมาร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแยกทรัพย์พิพาทออกเป็นส่วนของจำเลยครึ่งหนึ่งได้ การที่ชายหญิงแต่งงานกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสแม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่หากระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีพึงได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่”
เราต้องรอบคอบในการอ่านรายละเอียด และก่อนทำเอกสารใด ๆ อันนี้จึงจะเป็นการป้องกันตั้งแต่เริ่มแรกเลยนะคะ
ที่มาของบทความ
“บ้าน-ที่ดิน” ได้มาระหว่างสมรส ไม่ใช่สินสมรสเสมอไป
ผู้เขียนบทความ : Home Buyers Team
Home Buyers Team
20/02/2023